วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

6-10 พ.ค.นี้ ชวนเที่ยวงานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร




 

จังหวัดยโสธรร่วมกับเทศบาลเมืองยโสธร, ภาครัฐ, รัฐวิสาหกิจ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน และพี่น้องชาวจังหวัดยโสธร ร่วมกันจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2552 ระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคมนี้ ณ สวนสาธารณะพญาแถน และเขตเทศบาลเมืองยโสธร ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก จัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี ในช่วงอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะถึงฤดูลงมือทำนา ตามตำนานเล่าว่า...

เมื่อครั้งพระพุทธ เจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถน เทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้น อย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตาย และได้พากันมารวมกลุ่ม ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกัน เพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกัน ให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้

จากนั้นจึงให้พญาต่อแตน ยกทัพไปปราบ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบ โดยปลวกทั้งหลาย ก่อจอมปลวกขึ้นไป จนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอด ได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธ ที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืน ที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถน ทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทาง

เพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบ กัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้ และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้ 1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์ 2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว 3. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตก เพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไป และได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้

ในปัจจุบันงานบุญบั้งไฟ ก็ยังคงมีขึ้นในวันเสาร์ - อาทิตย์ ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ.สวนสาธารณะพญาแถน โดยมีความเชื่อว่า เมื่อจัดงานนี้แล้วเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และเป็นประเพณีความเชื่อที่สำคัญในคนอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 ของทุกปี โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ได้แก่ จุดมุ่งหมายในการขอฝน  ชาวบ้านในภาคอีสาน ถือว่าบุญบั้งไฟเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญมาก

เพราะเชื่อว่าหากหมู่บ้านใด ไม่จัดงานบั้งไฟก็อาจก่อให้เกิด ภัยพิบัติ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือทุพภิกขภัยแก่ชุมชนได้ ในขณะที่ช่วงจัดงานนี้เป็นช่วงที่ ชาวบ้านมีงานต้องทำมาก เนื่องจากเป็นฤดู ของการทำนาปี ฉะนั้นที่ประชุม ผู้ใหญ่บ้าน จึงต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อตัดสินใจว่าจะจัดหรือไม่ในปีนั้น หากตัดสินใจว่าจะไม่จัดแล้ว ก็จำเป็นต้องไปทำพิธีที่ศาลปู่ตาของบ้าน เพื่อขออนุญาตเลื่อนงานบุญนี้ไปในปีหน้า

การจัดงานและการละเล่นในประเพณีบุญบั้งไฟ ในวันสุกดิบชาวบ้าน จะจัดขบวนแห่บั้งไฟยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน ทำพิธีเซ่นสรวง มีการจุดบั้งไฟที่ใช้ในการเสี่ยงทาย เพื่อเสี่ยงทายดูความอุดมสมบูรณ์ และความสำเร็จในการทำนาปีนั้น จากนั้นก็พากันกินเหล้าฟ้อนรำ รอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน จากนั้นก็พากันแห่บั้งไฟ ไปยังสถานที่จัดงานบุญบั้งไฟ เพื่อจุดแข่งขันประกวด ประชันกันต่อไป ในปัจจุบันบั้งไฟที่ใช้จุดแข่งขัน มีหลากหลายที่นิยมเรียกกัน ได้แก่บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน ซึ่งมีขนาดของดินปืนมากน้อย แตกต่างกันไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น