วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

การตลาดวัย 50 ยุคใหม่ โอกาสทองสินค้าไลฟ์สไตล์

@ อินไซด์การตลาดคนวัย 50++ ยุคใหม่      
       @ ไลฟ์สไตล์ทันสมัย หลงใหลไอที-อินเทอร์เน็ต
      
       @ ทัพสินค้าแห่ขนโปรดักส์-รพ.ส่งโปรแกรมสุขภาพรองรับ
      
       @ “แมคแคน” เผย 5 เคล็ดลับเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้แบบไม่ยาก
      
       หากดูกันที่ตัวเลขผู้สูงอายุของไทย ที่จัดทำโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เมื่อปี 2552ขณะนั้นมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป 7.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.5 ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 17.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 (1 ใน 4) ของประชากรทั้งหมด
      
       การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ เป็นผลมาจากการลดลงของอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ลดเหลือ 1.85 ต่ำกว่าระดับทดแทน (รุ่นต่อรุ่น) โดยสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) และวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) เพิ่มสูงขึ้น โดยเพศหญิงจะมีมากกว่า และอายุยืนยาวกว่าเพศชาย ซึ่ง 3 จังหวัดแรกที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากสูงสุดอันดับแรก (ไม่นับรวมกรุงเทพฯ) ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่
      
       เมื่อปริมาณคนกลุ่มนี้มีมากขึ้น สินค้าหลายตัวต่างผลิตสินค้าเข้ามารองรับคนกลุ่มนี้ โดยให้สอดรับกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ให้มากที่สุด จากการสำรวจของผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ล่าสุด พบสินค้าที่มุ่งผลิตเพื่อคนกลุ่มวัยสูงอายุโดยเฉพาะที่โดดเด่นอย่างฟลูโอคารีลจับกลุ่ม 40 พลัส-โรงพยาบาลออกโปรแกรมตรวจสุขภาพคนสูงอายุ ขณะเดียวกัน ค่ายวิจัยอย่าง “บริษัท แมคแคน เวิลด์ กรุ๊ป” ยังได้สำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของคนกลุ่มนี้ในรอบ 5 ปี พบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผย 5 เคล็ดลับเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบไม่ยาก (อ่านล้อมกรอบ)
      
       วัยโจ๋ 50 ฮิตสื่อออนไลน์
      
       ผลสำรวจล่าสุดของ “บริษัท แมคแคน เวิลด์ กรุ๊ป” แผนก คอนซูเมอร์ อินไซด์ โดยทำการสำรวจเชิงลึกผู้บริโภคกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 50-65 ปี ในกรุงเทพฯ จำนวน 40 คน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกจับตามองจากนักการตลาดในปัจจุบันมากที่สุด อันเนื่องมาจากจำนวนประชากร และอำนาจในการซื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มดังกล่าว จากการสำรวจครั้งนี้จึงมุ่งทำความเข้าใจทัศนคติและความต้องการที่เปลี่ยนไปเมื่อผู้บริโภคไทยในยุคนี้ก้าวเข้าสู่วัย 50
      
       รายงานดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรในประเทศไทยตั้งแต่วัย 50 ปีขึ้นไป มีทั้งหมด 16.13 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 24% ของประชากรไทยทั้งหมด (70.3 ล้านคน) ภายในปี 2553 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่าประชากรกลุ่มวัย 50 ปี จะเพิ่มขึ้น 20% เป็นจำนวนทั้งหมด 19.3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลมากขึ้น
      
       ทั้งนี้ จากสถิติเปรียบเทียบในรอบ 5 ปี อัตราการใช้สื่อดิจิตอล อาทิ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตของคนวัย 50 ปี พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเด่นชัด โดยในปี 2548 มีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 36% และเพิ่มเป็น 58% ในปี 2553 ส่วนการใช้คอมพิวเตอร์ในปี 2548 มีสัดส่วนการใช้อยู่ 21% เพิ่มเป็น 29% ในปี 2553 และอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 13% และเพิ่มเป็น 25% ในปี 2553
      
       ฟลูโอคารีล ‘Segment By Age’
       นวัตกรรมเพื่อคนสูงวัย
      
       แม้แต่สินค้าหมวดยาสีฟันก็มีการแตกเซกเมนต์ โดยใช้ “อายุ” มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งตลาด ซึ่งแบรนด์ฟลูโอคารีลนับเป็นผู้เล่นรายแรกที่โดดเข้าสู่ตลาดนี้อย่างเต็มตัว โดยเปิดตัว “ฟลูโอคารีล 40 พลัส” ยาสีฟันที่ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 3 ปี เพื่อตอบโจทย์คนวัย 40 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา
      
       ที่เป็นเช่นนี้ พนิดา วัฒนาปฐิมากุล ผู้จัดการแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค บริษัท ดีทแฮล์ม ผู้ได้รับไลเซนส์ให้ทำตลาดในเมืองไทย อธิบายถึงที่มาที่ไปเมื่อครั้งเปิดตัวว่า บริษัทต้องการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมกับหาจุดยืนที่ชัดเจนและแข็งแกร่งให้แบรนด์
      
       ทั้งที่ผ่านมา ตลาดยาสีฟันในบ้านเราจะแบ่งตาม “คุณสมบัติของยาสีฟัน” คือ ยาสีฟันครอบครัว 26% ไวท์เทนนิ่ง 6% เด็ก 3% เซนซิทีฟ หรือแก้เสียวฟัน 7% กลุ่มเฮอร์เบิล หรือสารสกัดจากธรรมชาติ 26% และกลุ่มเพื่อลมหายใจหอมสดชื่น 31% ตามมาด้วยการแบ่งเซกเมนต์ตาม “ช่วงเวลา” เช่น ยาสีฟันสำหรับแปรงก่อนนอน โดยมี “เดนทิสเต้” เป็นผู้เล่นที่เข้ามาจุดพลุเป็นแบรนด์แรก
      
       ฉะนั้น หากฟลูโอคารีลต้องการสร้างความแตกต่างและเป็นรายแรกที่เปิดตลาด แน่นอนว่า “อายุ” คือ เงื่อนไขในการสร้างเซกเมนต์ใหม่ที่น่าสนใจเลยทีเดียว โดยครั้งนี้ฟลูโอคารีลเลือกวางโพซิชันนิ่งแบรนด์เป็นยาสีฟันสำหรับคนวัย 40 ปี แม้ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภควัยตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปมีโอกาสพบปัญหาในช่องปากสูง ทั้งเรื่องอาการเสียวฟัน สุขภาพเหงือก กลิ่นปาก หรือแม้แต่ฟันผุที่มีโอกาสกลับมาฟันผุเพิ่มขึ้น 34% แต่ฟลูโอคารีล กลับเลือกผูกแบรนด์ไปกับคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แทนที่จะเลือกคนวัย 30 ปี
      
       เพราะพบพฤติกรรมสำคัญที่ว่า ผู้หญิงไม่อยากยอมรับว่าตนเองมีอายุเข้าสู่หลัก 3 และไม่ต้องการหยิบสินค้าที่บ่งบอกว่าสำหรับวัย 30 ปีขึ้นไป ขณะที่คนวัย 40 ปี จะให้การยอมรับในเรื่องนี้ง่ายกว่า และแน่นอนว่าผู้บริโภคที่มีอายุสูงไปจากนี้ก็ย่อมยอมรับได้ง่ายดาย อีกทั้งลูกค้ากลุ่มนี้ยังใส่ใจสุขภาพตนเอง และศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ซึ่งการกำหนดราคาสินค้าตัวนี้สูงกว่าสินค้าสูตรเดิมราว 40% จึงไม่เป็นปัญหาในการตัดสินใจซื้อ แต่เพื่อให้ได้ลูกค้าในวงกว้าง จะสังเกตได้ว่าฟลูโอคารีลยังส่งสารผ่านหนังโฆษณาว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่าก็สามารถใช้ได้เพื่อป้องกันก่อนมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก
      
       ที่ผ่านมาฟลูโอคารีลเป็นยาสีฟันที่ถูกจัดอยู่ในตลาดพรีเมียม ซึ่งมีผู้เล่นที่ชัดเจนเพียงไม่กี่ราย แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการแข่งขันของตลาดยาสีฟันกลุ่มพรีเมียม กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เล่นหลายราย นี่คือ สาเหตุสำคัญที่ฟลูโอคารีลต้องยอมทุ่มเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่า (เทียบกับสูตรเดิม) สำหรับการพัฒนานวัตกรรมตัวนี้ โดยหวังว่าจะเขยิบหนีและรักษาพื้นที่มั่นของตนเองให้ชัดเจน
      
       อัดโปรแกรมผู้สูงอายุ
       ตรวจสุขภาพทุกโรค
      
       เมื่อจำนวนประชากรสูงอายุมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการมีสุขภาพที่แข็งแรง เพราะคนกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นโรคได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคเกาต์ พบในชายสูงอายุมากกว่าหญิง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก พบมากในชายสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โรคตา จอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก ต้อหิน และน้ำวุ้นตาเสื่อม โรคไต และโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้น ผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพทุก 6-12 เดือน
      
       ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลหลายแห่งจึงหันมาจับตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเปิดโปรแกรมตรวจสุขภาพที่มีความหลากหลาย แต่ตรงกับความต้องการ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลกรุงเทพ จัด “แพกเกจตรวจสุขภาพ สุขกาย สุขใจ สำหรับผู้สูงวัย” เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกต้อง และลดปัญหาการเกิดโรคเมื่อย่างเข้าสู่วัยของผู้สูงอายุ ด้วยแพกเกจเบาหวานขึ้นตา สำหรับผู้ป่วยเบาหวานในราคา 1,200 บาท แพกเกจตรวจโรคไขข้ออักเสบเรื้อรัง ราคา 2,200 บาท แพกเกจตรวจความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ชุดที่ 1 ราคา 3,500 บาท แพกเกจตรวจโรคความดันโลหิตสูง ราคา 4,100 บาท
      
       นอกจากนี้ หลายแหล่งยังเบนเข็มหันมารุกตลาดการป้องกัน เพื่อรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพด้วยการจัดสัมมนาให้ความรู้ จัดกิจกรรม โดยมีแพกเกจการตรวจสุขภาพเป็นตัวนำร่อง เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
      
       ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเปาโลมีการจัดแคมเปญแพกเกจตรวจสุขภาพเจาะกลุ่มครอบครัว “แฮปปี้ เฮลตี้ แฟมิลี่ สุขภาพดียกครัว 16 รายการ” ราคาเริ่มต้น 3,900 บาท ขณะที่แพกเกจครอบครัวเล็ก (พ่อ แม่) 7,490 บาท ครอบครัวใหญ่ (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย) 13,900 บาท
      
       ใช่ว่าจะมีเพียงโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่รุกทำตลาดตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ แม้แต่โรงพยาบาลรัฐอย่างธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังได้จัดกิจกรรมการตรวจสุขภาพสำหรับสมาชิกผู้สูงอายุและผู้สูงอายุทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้สูงอายุโรงพยาบาล ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุมีความสนใจและใส่ใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองโดยการตรวจสุขภาพประจำปี
      
       ด้านสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังมองเห็นตลาดผู้สูงอายุเป็นตลาดที่น่าจับตา จึงได้ส่งเสริมให้โรงพยาบาลเพิ่มการบริการนอกจากการรักษาพยาบาล เช่น ทำสถานดูแลผู้สูงอายุ สถานฟื้นฟูสุขภาพ โดยจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มโรงพยาบาลและบริษัทนำเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจัดทัวร์สุขภาพ
      
       เจาะลึก ‘Baby Boomer’
      
       บุริม โอทกานนท์ รักษาการแทนรองคณบดีงานหลักสูตรไทย และที่ปรึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หยิบผลงานการศึกษาของนักศึกษามหาบัณฑิตสาขาการตลาด เกี่ยวกับการใช้ชีวิต หรือ lifestyle ของคนในกลุ่ม Baby Boomer ในไทย พบว่า Baby Boomer เป็นประชากรรุ่นผู้ใหญ่ที่มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 45-63 ปี เป็นกลุ่มคนมีประสบการณ์ชีวิตสูง และเงินเก็บสะสมมาก
      
       โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.Best มีช่วงอายุ 45-50 ปี ชอบความล้ำสมัย ก้าวทันเทคโนโลยี ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่เสมอ ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ วิถีการใช้ชีวิต คือ มีการพบปะปฏิสัมพันธ์กับผู้คนค่อนข้างมากจากการทำงานหรือเครือข่ายของการทำงาน จึงมักที่จะดูแลภาพลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในของตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ เช่น ใช้สินค้าคุณภาพดีที่เสริมบุคลิก ทานอาหารเสริม และไปสถานออกกำลังกาย อาทิ fitness ตามห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งนิยมท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ มีพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตเพื่อจับจ่ายใช้สอย โดยจากการศึกษาพบว่า มักจะมีจำนวนบัตรเครดิต 2-3 ใบ ต่อคน
      
       การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการจะพิจารณาที่คุณภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้า ส่วนใหญ่จะจับจ่ายตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางเมือง เช่น สยามพารากอน, เซ็นทรัล หรือ ดิ เอ็มโพเรียม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากทางเว็บไซต์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังสนใจด้านเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารกับกลุ่มนี้ทำได้ด้วยอินเทอร์เน็ต รวมถึงนิตยสารประเภทธุรกิจหรือสารคดีอีกด้วย
      
       2.Bright มีอายุตั้งแต่ 49-57 ปี รูปแบบและทัศนคติที่โดดเด่นที่สุดของคนในกลุ่มนี้ คือ การดูแลสุขภาพทั้งทางกายและใจ โดยวิถีของธรรมชาติ เช่น การปฏิบัติธรรมตามสถานปฏิบัติธรรม ออกกำลังกายตามแหล่งธรรมชาติ นิยมอาหารชีวจิต ทานวิตามินหรืออาหารเสริมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ เวลาว่างกิจกรรมหลักจะดูทีวี อ่านนิตยสาร หรือพบปะกับกลุ่มเพื่อนสนิทเป็นกลุ่มเล็กๆ
      
       สินค้าที่สนใจมักจะอิงธรรมชาติ เช่น การบริโภคผักปลอดสารพิษ หรือสมุนไพรไทย เก้าอี้นวดเพื่อการผ่อนคลาย ใช้บัตรเครดิตเพียงใบเดียว ทัศนคติในการเลือกซื้อสินค้าและบริการจะให้ความสำคัญในเรื่องของความคุ้มค่า สถานที่จับจ่ายใช้สอย คือ Villa Market, Central หรือ The Mall เป็นต้น การจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ควรสื่อสารผ่านทางหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือเว็บไซต์ นอกจากนี้ การใช้ Word-of-mouth เพราะคนกลุ่มนี้มักจะพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มเพื่อนสนิทอยู่เสมอ และมักจะชอบการสื่อสารแบบ Personal Selling โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสินค้านั้นๆ
      
       3.Basic อายุระหว่าง 55-63 ปี ส่วนใหญ่เกษียณอายุแล้ว กิจกรรมหลัก คือ ดูทีวี อ่านนิตยสาร ให้ความสนใจกับสินค้าที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน มองเห็นง่าย สินค้าและบริการที่ถูกใจ คือ สินค้าขายตรง เช่น แอมเวย์, ทีวี ไดเร็ค ที่มีแค็ตตาล็อกบริการจัดส่งถึงบ้าน ชอบซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านด้วยตนเองโดยมองราคาต้องสมเหตุสมผล ห้างสรรพสินค้าของคนกลุ่มนี้ก็เช่น บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส, คาร์ฟูร์
      
       โดย 5 อันดับแรกที่กลุ่มคนยุค Baby Boomer ต้องการซื้อคือ 1.สินทรัพย์ บ้าน ที่อยู่อาศัย และซื้อโปรแกรมสุขภาพ 2.ท่องเที่ยว มีความต้องการใช้เงินในเรื่องนี้จำนวนมาก 3.ใช้เงินไปกับลูกหลานครอบครัว 4.ซื้ออาหารดีๆ ส่งเสริมสุขภาพ การออกกำลังกาย และ 5.ซื้อของตามใจตัวเอง เช่น การปลูกต้นไม้ ทำสวน
      
       5 เคล็ดพิชิตใจคนวัย 50
      
       ค่าย “แมคแคน เวิลด์ กรุ๊ป” แผนก คอนซูเมอร์ อินไซด์ ทำการสำรวจเชิงลึกผู้บริโภคกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 50-65 ปี ในกรุงเทพฯ จำนวน 40 คน พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มนี้ หรือที่เรียกว่า 50 Plus Consumers เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการและไลฟ์สไตล์ของตนเองทั้งในด้านครอบครัว และการทำงาน มีการใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพหรือการเงิน แต่ยังคงสนุกกับการใช้ชีวิต กล่าวคือ รู้จักเรียนรู้กระแสนิยมใหม่ๆ และสร้างความสุขให้กับตนเองด้วยการอยู่กับครอบครัวและกลุ่มเพื่อนๆ ดังนั้น การเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ข้อเท็จจริงในปัจจุบันของคนไทยวัยนี้ ดังนี้
      
       My life is My Family
      
       ผู้ใหญ่วัยนี้มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางของชีวิตและให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น ผลวิจัยชี้ว่าค่าใช้จ่ายของคนช่วงวัยนี้ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการซื้อของใช้ประจำวันให้แก่ครอบครัว โดยสมาชิกในครอบครัวมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อแบรนด์
      
       นอกจากนี้ ลูกหลานยังเป็นส่วนสำคัญให้ผู้ใหญ่วัยนี้มีทัศนคติที่ทันสมัยขึ้น มองโลกในแง่บวก และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี เพื่อความรู้และความบันเทิงจากลูกหลานโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต เช่น Internet Banking, Social Network โดยเว็บไซต์ที่คนวัยนี้นิยมใช้มากที่สุดคือ Google, Yahoo, Sanook และ Online News
      
       Community: A Must-Have
      
       กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคในวัย 50-65 ปี ยอมรับว่ากลุ่มเพื่อนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครอบครัว เนื่องจากกลุ่มเพื่อนสามารถช่วยเติมเต็มบางช่วงเวลาของชีวิตได้ เนื่องจากคนวัยนี้ไม่ว่าจะเกษียณแล้วหรือยังทำงาน มักจะมีเวลาว่างมากขึ้น ในขณะที่ลูกหลานมีเวลาให้กับตนเองน้อยลง ดังนั้น ในวัย 50 คนจึงหันกลับมาสร้างสังคมให้กับตนเองอีกครั้งด้วยการรวมกลุ่มกับเพื่อนเก่า หรือผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำบุญและกิจกรรมการกุศล ซึ่งคนในวัยนี้มักเปิดกว้างกับกลุ่มสังคมใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยความชอบและทัศนคติที่ตรงกันในการรวมกลุ่ม
      
       Purity: A Healthy Comes Back
      
       กระแสรักสุขภาพยังคงมีบทบาทกับผู้บริโภคในกลุ่มนี้ โดยกระแสสุขภาพที่กำลังเป็นที่สนใจ คือ วิธีธรรมชาติบำบัด (Naturopathy) ซึ่งหมายถึงการดูแลสุขภาพผ่านการออกกำลังกายที่บำบัดจากภายในสู่ภายนอก และเลือกกินอาหารที่ผ่านการสังเคราะห์น้อยที่สุด หรือการกลับมารับประทานอาหารประเภท Comfort Food ซึ่งเป็นเมนูอาหารง่ายๆ ที่รู้สึกคุ้นเคยและมั่นใจในคุณประโยชน์ ในขณะเดียวกัน ความเชื่อในเรื่องการรับประทานวิตามินกลับลดลง
      
       The Time of My Life
      
       ผลวิจัยระบุว่า ผู้บริโภควัยนี้สามารถบริหารเวลาเพื่อกิจกรรมต่างๆ สำหรับครอบครัว งาน และเวลาผ่อนคลายส่วนตัวได้อย่างเป็นระบบทุกวัน เนื่องจากมีเวลาว่างมากขึ้นและเริ่มมีภาระลดลง โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่วัย 50 คนจะเริ่มดำเนินชีวิตในลักษณะที่ผ่อนคลายขึ้นและรู้จักซื้อความสุขในกับตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นมากที่สุด คือการไปเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อนฝูง หรือการใช้ของมีราคาเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว และการให้เวลากับตัวเองมากขึ้นในการทำกิจกรรมที่ตนชื่นชอบ
      
       50 Something Index Future
      
       การเงินยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่คนในวัยนี้มีความกังวลอยู่ ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะเกษียณตัวเองช้าลงและหาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมอยู่ แต่จะเลือกออมทรัพย์ในรูปแบบที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ พันธบัตร และประกันชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับตนเองและครอบครัวในอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคในวัยนี้ยังมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่วางแผนที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยเงินออมของตนเอง เนื่องจากไม่ต้องการสร้างภาระให้ลูกหลาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น